นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือถึง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความร่วมมือในการบูรณาการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567 เนื่องจากทั้ง 2 กระทรวง มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยได้ขอความร่วมมือกำชับหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เร่งให้ความสำคัญในการป้องปรามปัญหาการลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติด้านฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุตามแผนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายเลขานุการ ได้กำหนดแนวทางการควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร และกำหนดให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในปี 2566 โดยมีหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัด และท้องถิ่น” นายภานุวัฒน์กล่าวคำพูดจาก ทดลองเล่น
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณอ้อยลักลอบเผาอย่างต่อเนื่อง เช่น การขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 การชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย เป็นต้น แต่จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
พบว่า ยังมีการลักลอบเผาอ้อยในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 29.81 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดนับจากวันที่เปิดหีบ จำนวนกว่า 15 ล้านตัน เทียบเท่าได้กับการเผาป่าจำนวน 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่นผิดปกติในหลายพื้นที่ ทั้งในภูมิภาคและกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน โดยจังหวัดที่มีการลักลอบเผาอ้อยมากที่สุด 15 ลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี เลย หนองบัวลำภู ลพบุรี สระแก้ว ชัยภูมิ และมุกดาหาร
โดยอัตราการลักลอบเผาอ้อยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในวงกว้าง ก่อให้เกิดปัญหาในหลายจังหวัด อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การหายใจรับฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง และนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคบริการที่กำลังฟื้นตัวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซัน” และอาจทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสจากการเปิดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของไทย